วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2562

เราอ่านแท่งเทียนไปทำไม?


ผมเชื่อเหลือเกินว่าเทรดเดอร์และนักลงทุนไม่ว่าจะเป็นหน้าเก่า หน้าใหม่คงต้องเคยเห็นเจ้ากราฟแท่งเทียนนี้ผ่านตากันมาแล้วแน่นอน แต่ทุกคนเคยทราบมั้ยครับว่าจริงๆแล้วกราฟแท่งเทียนมันมีต้นกำเนิดยังไงและ จะมีวิธีการใช้งานอย่างไร ??
.
เราอ่านกราฟแท่งเทียนไปทำไม?
วัตถุประสงค์ในการอ่านกราฟแท่งเทียน คือ การอ่าน “อารมณ์” ของผู้ที่เข้ามาซื้อขายในตลาด ดังนั้นเวลาที่อ่านกราฟแท่งเทียนเราควรตอบคำถามเบื้องต้นไห้ได้ว่า ระหว่างฝั่งซื้อกับฝั่งขายฝั่งไหนมีแรงมากกว่า เมื่อเราอ่านอารมณ์ของตลาดออกแล้ว เราก็จะสามารถใช้กราฟเป็น 1ในเครื่องมือในการเลือกตัดสินใจได้ว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้ได้โอกาสในการได้กำไรจากการเทรด
#ประวัติของกราฟแท่งเทียน Candlestick
เป็นที่รู้กันดีว่ากราฟแท่งเทียนหรือ Candlestick Chart นั้นมีประวัติของมันมาอย่างยาวนาน มันถูกคิดค้นขึ้นโดยนักเก็งกำไรข้าวชาวญี่ปุ่นที่ชื่อว่า Honma Munehisa หรือในอีกชื่อหนึ่งว่า Sokyu Honma ในช่วงราวๆศตวรรษที่ 17 โดยภายหลังจากที่เขาได้ทำการคิดค้นการวิเคราะห์พฤติกรรมของราคาข้าวด้วยกราฟแท่งเทียนขึ้นมานั้นมันก็ได้ช่วยให้เขากลายเป็นอภิมหาเศรษฐีในยุคของเขาในเวลาไม่นานนัก ประมาณการกันว่าทรัพย์สมบัติของเขานั้นหากนำมาตีเป็นมูลค่าของเงินในปัจจุบันนั้นเทียบได้ถึงราวๆ 100 Billion US Dollar เลยทีเดียว
แนวคิดของท่าน Honma ประกอบไปด้วยหลักคิดอยู่ 3 ประการ ดังนี้
  1. ราคาของข้าวมีความสำคัญมากกว่าข่าวสาร หรือผลประกอบการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการวิเคราะห์ด้วยปัจจัยพื้นฐานอย่างสิ้นเชิง
  2. ผู้ที่ทำการซื้อขายข้าว ตัดสินใจกันด้วยอารมณ์ล้วนๆ ซึ่งมีทั้ง ความดีใจ เสียใจ กลัว และความคาดหวัง โดยปราศจากซึ่งการตัดสินใจด้วยเหตุผล
  3. ราคาที่ซื้อขายกันในตลาด ไม่ใช่ราคาที่เหมาะสม แต่เป็นเพียงราคาที่ผู้ซื้อขายมีความพึงพอใจร่วมกันเท่านั้น
จากหลักคิดของท่าน Honma ทั้ง 3 ประการ จะเห็นได้ว่าเป็นไปตามแนวทางของการวิเคราะห์ทางเทคนิคทุกประการ คือ ให้ความสำคัญกับราคาซื้อขาย ณ ขณะนั้นมากกว่า ข้อมูลข่าวสารหรือการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน จึงอาจกล่าวได้ว่า ท่าน Honma คือ บิดาของการวิเคราะห์ตามแนวทางเทคนิคของฝั่งเอเชียเลยก็ว่าได้
.
#กราฟแท่งเทียน Candlestick คืออะไร?
Candlestick หรือ กราฟแท่งเทียน คือ กราฟชนิดหนึ่งที่ใช้เพื่อดูความเคลื่อนไหวของราคาหลักทรัพย์ กราฟแท่งเทียนเป็นที่นิยมอย่างมากสำหรับการวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical analysis) เพราะมันสามารถบอกรายละเอียดของข้อมูลราคาได้มากกว่ากราฟแบบ Line chart
หนึ่งแท่งเทียนประกอบไปด้วยข้อมูล 4 อย่างคือ ราคาเปิด ราคาปิด ราคาสูงสุด และ ราคาต่ำสุดในช่วงเวลาที่กำหนด (แท่งเทียนในรูปด้านบนมีระยะเวลาเท่ากับ 1 วัน) เราเรียกช่วงลำตัวของแท่งเทียน (ส่วนสีเขียวและสีแดง) ว่า “Real body” มันคือส่วนต่างของราคาเปิดและราคาปิด แท่งเทียนเป็นสีเขียวแสดงให้เห็นว่าราคาปิดสูงกว่าราคาเปิด (Bullish Candle) และในทางกลับกัน แท่งเทียนที่เป็นสีแดงแสดงให้เห็นว่าราคาปิดต่ำกว่าราคาเปิด (Bearish Candle) ในบางประเทศอาจใช้แท่งเทียนสีขาวดำแทนสีเขียวแดงเลย หรือหรืออาจใช้สีฟ้าแทนสีเขียวก็ได้
.
หลังจากที่เพื่อนๆได้อ่านบทความข้างต้นจบแล้ว ก็อาจจะมีคำถามเกิดขึ้นในใจว่า มีความจำเป็นอย่างไร ทำไมจึงต้องใช้การวิเคราะห์แบบกราฟแท่งเทียน Candlesticks ในการซื้อขายกับตลาด forex,หุ้น รวมถงทองคำ ผมได้สรุปเหตุผลที่สำคัญ ที่ไม่ควรมองข้าม Candlesticks ได้ดังนี้
หลังจากที่เพื่อนๆได้อ่านบทความข้างต้นจบแล้ว ก็อาจจะมีคำถามเกิดขึ้นในใจว่า มีความจำเป็นอย่างไร ทำไมจึงต้องใช้การวิเคราะห์แบบกราฟแท่งเทียน Candlesticks ในการซื้อขายกับตลาด forex,หุ้น รวมถงทองคำ ผมได้สรุปเหตุผลที่สำคัญ ที่ไม่ควรมองข้าม Candlesticks ได้ดังนี้
1. รูปร่างของแท่งเทียน 1 แท่ง สามารถสรุปได้คร่าวๆว่าฝั่งซื้อหรือฝั่งขายเป็นฝ่ายชนะ โดยการเปรียบเทียบราคาเปิดและปิด
 2.  ใช้ปริมาณการซื้อขายเป็นตัวช่วยในการพิจารณาแท่งเทียน เนื่องจากปริมาณซื้อขายที่มากแสดงถึงการเข้ามามีส่วนร่วมในการซื้อขาย ถ้าปริมาณการซื้อขายน้อยให้ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่าอารมณ์หรือทิศทางของราคานั้นๆ อาจจะอยู่ได้ไม่นานเพราะมีคนเข้ามามีส่วนร่วมในการซื้อขายน้อย
3.  การเปรียบเทียบระหว่างแท่งเทียน โดยเปรียบเทียบแท่งเทียนในปัจจุบันเดี่ยวๆ หรือเปรียบเทียบกับแท่งเทียนก่อนหน้า ว่าอารมณ์ของตลาดมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่
4. ใช้ confirm แนวโน้มขาขึ้นหรือขาลงของสินค้า โดยพิจารณาจากราคาต่ำสุดในแต่ละแท่งเทียนยกตัวขึ้นในช่วงขาขึ้นหรือไม่ หรือราคาราคาสูงสุดในแต่ละแท่งเทียนลดต่ำลงในช่วงขาลงหรือไม่

เพื่อนๆนักลงทุนคงพอจะเห็นภาพของการใช้งาน “กราฟแท่งเทียน” กันแล้วนะครับ แต่สุดท้ายแล้วก็อยู่ที่การนำไปปรับใช้นะครับว่าสามารถจะนำไปวิเคราะห์ได้ดีแค่ไหน ถ้าเพื่อนๆ มีข้อส้งสัยหรือเทคนิคอย่างไรก็ลองถามกันเข้ามาได้นะครับ ^^

วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2562

เส้นค่าเฉลี่ย : moving average



เส้นค่าเฉลี่ย : moving average

เส้นค่้าเฉลี่ย คือ ค่าเฉลี่ยของราคาหุ้นในระยะเวลาที่กำหนด
ที่นิยมใช้กันคือ 5 10 25 50 75 200 หรือบางครั้งก็ใช้ตาม fibo คือ 8 13 34 55 89 233
โดยค่าเฉลี่ย 200 วันจะถือเป็นค่าเฉลี่ย 1 ปี

ค่าเฉลี่ยบอกอะไรได้บ้าง
ค่าเฉลี่ยสามารถใช้ในการบอกแนวโน้มได้เป็นอย่างดี โดยเราสามารถใช้ดูต้นทุน ของคนในตลาด ว่าโดยเฉลี่ยแล้วในกรอบเวลาที่เราสนใจนั้น คนที่ถือหุ้นตัวที่เราสนใจมีต้นทุนเท่าใด


รูปแบบของเส้นค่าเฉลี่ยmu่นิยมใช้กันคือ
  1. Simple Moving Average ( SMA )
  2. Exponential Moving Average ( EMA )
หากใครสนใจที่มีของการหาค่าเส้น SMA และ EMA สามารถหาได้จาก google ได้ครับ
ในการใช้งานเส้น EMA จะให้การตอบสนองที่ดีต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาในระยะสั้นๆ  ส่วนเส้น SMA จะใช้ได้ดีในการหาค่าเฉลี่ยระยะยาว

เส้นค่าเฉลี่ย ( Moving Average )
ค่าเฉลี่ยแต่ละเส้นสามารถบอกความหมายในตัวเองได้ดังนี้ ( ผมนิยมใช้ EMA ตาม fibo นะครับ )

EMA8 : Momentum ของราคา โดยหุ้นมักตอบสนองที่เส้นนี้จากผลของนักเก็งกำไรรายวัน ( daytrade )
EMA13 : Short Term Trend โดยหุ้นมักตอบสนองที่เส้นนี้จากผลของนักเก็งกำไรระยะสั้น
EMA34 : Pull back Support ใช้เป็นเส้นแนวรับระยะกลางหรือพวกเล่นรอบหากยืนบนเส้นนี้ได้ มักจะไปต่อได้ในระยะยาว
EMA90 : Uptrend Last Defend Line แนวรับสุดท้ายของการแสดงว่าเป็นขาขึ้น ซึ่งนักลงทุนระยะกลางและยาวจะใช้จุดนี้ตัดสินใจ โดยอาจพิจารณาว่าหุ้นตัวนี้ยังมีมูลค่าน่าเล่นอยู๋หรือไม่
SMA100 : Long Term Last Defend Line เส้นแนวรับสุดท้ายของนักลงทุนระยะยาว
SMA200 : Uptrend Last Stand Line : หากราคาหุ้นหลุดเส้นนี้ถือเป็นขาลงเต็มตัว

* สังเกตุว่าระยะ 100 วันขึ้นไปจะใช้ SMA เพราะตอบสนองราคาได้ดีกว่า EMA  
การเลือกใช้ Moving Average ของแต่ละคนจะต่างกัน แล้วแต่ลักษณะการเล่น นิสัย ความถนัด เช่น
EMA 10/50/150 หรือ 13/34/90

โดยส่วนตัวผมชอบใช้ 4 เส้นคือ
EMA 13 ใช้ดูแนวโน้มระยะสั้น
EMA 34 ใช้ดูความแข็งแรงของแนวโน้ม
EMA 90 ใช้ดู Trend
SMA 200 ราคาต่ำกว่าเส้นนี้ไม่เล่นครับ

วิธีการอ่านค่า Moving Average
หุ้นเป็นขาขึ้นเมื่อ : เส้น EMA34 อยู๋บนเส้น EMA90 โดยจุดเริ่มของการเปลี่ยน Trend จากขาลงเป็นขาขึ้นคือ Golden Cross ( EMA34 ตัดเส้น EMA90 ขึ้น และยืนราคาได้มั่นคง) และหากเส้น EMA เรียงกัน จาก 13 / 34 / 90 โดย EMA13 อยู๋บนสุด และราคาพักตัวไม่หลุด EMA 13 ถือเป็นขาขึ้นที่แข็งแกร่ง


หุ้นเป็นขาลงเมื่อ : เส้น EMA90 อยู่บนเส้น EMA34 โดยจุดเริ่มของการเปลี่ยน Trend จากขาขึ้นเป็นขาลงคือ Dead Cross ( EMA34 ตัดเส้น EMA90 ลงและไม่สามรถกลับมาได้)
หุ้นจะพักตัว หรือเปลี่ยนเป็นขาลงเมื่อ เส้น EMA 13 อยู๋ใต้ EMA 34  แต่เส้น EMA 34 ยังอยู๋เหนือ EMA 90 ซึ่งหุ้นอาจจะพักตัว เพื่อขึ้นหรือลงได้ทั้งสองทาง





วันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ไม่มีใครล้างรถเช่า แนวคิดเรื่องความผูกพันธ์ และความรู้สึกเป็นเจ้าของ

ไม่มีใครล้างรถเช่า  แนวคิดเรื่องความผูกพันธ์ และความรู้สึกเป็นเจ้าของ
แปลโดย เม่าน้อย

สนใจต้นฉบับภาษาอังกฤษหาอ่านได้ ที่นี่

ไม่มีใครล้างรถเช่า

ผมได้ใช้ประโยคนี้มานานหลายปีแล้ว มันเป็นประโยคที่ดูดีและแสดงให้เห็นถึงโอกาสที่มีความสำคัญอย่างมากในการเพิ่มความผูกพันธ์ของพนักงานกับองค์กร , การพัฒนาโครงสร้างองค์กร , การพัฒนาประสิทธิภาพ และส่งผลตอ่การพัฒนาองค์กรในด้านต่างๆอีกหลายด้าน
มันเป็นประโยคที่ยอดเยี่ยมจริงๆและผมได้ใช้ประโยคนี้หลายครั้งในเป็นชื่อสำหรับงานนำเสนอ แต่บ้างครั้งมันก็ยังก่อให้เกิดความสับสนสำหรับบางคน
 
จริงแล้วมันเป็นเพียงคำเปรียบเทียบ! ไม่ใช่เรื่องที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปหรือกฎเกณฑ์บางอย่างของชีวิต และ มันเป็นเรื่องตลกที่ครั้งหนึ่งผมได้พบว่ามีคนยกมือขึ้นในการสัมมนาเพื่ออธิบายว่าพวกเขาเคยล้างรถที่เช่ามา ในขณะนั้นพวกเขายอมรับว่าเป็นความรับผิดชอบของพวกเขาที่จะต้องทำมัน พวกเขาแสดงให้เห็นถึงประเด็นที่ผมได้มองเห็น ...
ประเด็นหนึ่งคือการเป็นเจ้าของ - คนจะไม่ดูแลสิ่งที่พวกเขาไม่ได้เป็นเจ้าของ ผมสามารถอธิบายเรื่องนี้ได้บ่อยๆโดยถามผู้เข้าร่วมว่าพวกเขาเคยให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ของตัวเองเช่น บ้านหรือรถหรือไม่ บางส่วนของผู้เช่าจะดูแลบ้านเช่าเป็นพิเศษและดูแลให้เรียบร้อยดีกว่าก่อนที่จะเช่า แต่ส่วนมากที่พบจากประสบการณ์ของผม ผู้เช่าบ้านบางราย เกือบเผาบ้าน , ทำลายพื้นไม้, เจาะรูในผนังและทิ้งรอยตะปูมากมายเกือบทุกส่วนของผนัง สวนกุหลาบและต้นไม้คามิลล่า ถูกทำลาย (โดยน้ำมันเครื่องถูกทิ้งไว้รอบ ๆ อย่างเห็นได้ชัด) และกลายเป็นที่จอดรถ
 
การเป็นเจ้าของ – หากคุณเป็นเจ้าของอะไรบางอย่างคุณมักจะที่จะดูแลมันอย่างดี
นั่นคือทั้งหมดที่ผมหมายถึง ผมขออธิบายแบบนี้ครับ
ถ้ามีคนในที่ทำงานมาพร้อมกับความคิดและนำเสนอไปยังผู้จัดการและผู้จัดการให้พวกเขาลองมันพวกเขามักเต็มใจทำ ใช่มั้ยครับ? แต่ถ้าเจ้านายออกมาและพูดว่า "ตอนนี้เราจะทำแบบนี้" การตอบสนองโดยทั่วไปจะเป็นเรื่องที่คนจะต่อต้านการเปลี่ยนแปลงและสร้างเหตุผลว่าทำไมมันถึงไม่เวิร์ค ใช่มั้ยครับ?
ตามสถิติแล้วผู้บริหารส่วนใหญ่เชื่อว่าส่วนที่ยากที่สุดของโครงการริเริ่มการปรับปรุงองค์กรคือความต้านทานต่อพนักงาน

ใครเป็นเจ้าของไอเดียนี้? มันไม่ใช่ไอเดียของพนักงานใช่ไหม? ดังนั้นทำไมพวกเขาไม่ต่อต้านไอเดียนี้ล่ะ? หลังจากนั้น ทุกคนต้องเปลี่ยนแปลง , เรียนรู้ที่จะทำอะไรบางอย่างที่แตกต่างไปจากที่เคยทำมา , มีความเสี่ยงที่จะเกิดความล้มเหลวและอาจจะทำให้ผลผลิตลดลงในระยะสั้น , ทั้งหมดที่เกิดขึ้นมีอะไรที่ดีกับพวกเขาบ้าง ?

บางบริบทของการทำงานแสดงตามภาพ

ผู้นำจะต่อต้านการเปลี่ยนแปลงที่รู้สึกว่าส่งผลถึงพวกเขา


ในการให้คำปรึกษาโครงการในอดีต ไอเดียที่ผมช่วยพนักงานนำไปใช้มักถูกต่อต้านโดยผู้จัดการซึ่งรู้สึกว่าสิ่งต่างๆไม่อยู่ภายใต้การควบคุมหรือเคลื่อนไหวเร็วเกินไป เรื่องทำนองนี้นี้เกิดขึ้นน้อยลงและน้อยซึ่งทำให้ประสบการณ์ของผมดีขึ้นและผมสามารถสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมของพวกเขาเพื่อที่จะสร้างสมดุลของแรงต้านทางจากทั้งสองด้านระหว่างพนักงานและผู้จัดการ
มีหลายวิธีที่เราสามารถทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและให้ผู้คนเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ
ริเริ่มการปรับปรุงที่เราต้องการ แต่การผลักดันและการดึงไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดีที่สุด
การนั่งพูดคุยการอธิบายและการสอบถามมักเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเพื่อให้องค์กรได้เดินหน้าต่อไป ...

 

พนักงานในองค์กรของเรา มีความรู้สึกเป็นเจ้าขององค์กรหรือไม่

พนักงานในองค์กรของเรา มีความรู้สึกเป็นเจ้าขององค์กรหรือไม่

ผู้บริหารและเจ้าของกิจการทางธุรกิจต่างก็อยากให้พนักงานของตนทำงานอย่างมีความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าขององค์กร เพราะการที่พนักงานรู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของงาน หรือเจ้าขององค์กร ก็จะทำให้พนักงานทำงานอย่างทุ่มเท และมีความรับผิดชอบต่องานอย่างเต็มที่ แต่ในทางปฏิบัติจะมีพนักงานสักกี่คนในองค์กรที่รู้สึกถึงความเป็นเจ้าขององค์กรจริงๆ
ในปัจจุบันนี้คำว่ารู้สึกถึงความเป็นเจ้าของนั้น เริ่มเปลี่ยนไปใช้คำอื่นมากขึ้น ก็คือ คำว่า ผูกพันกับองค์กร หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกกันว่า Engagement นั่นเอง เอาเข้าจริงๆ แล้วลึกๆ ก็มีความหมายในนัยคล้ายๆ กันมาก เพราะพนักงานที่มี Engagement ก็จะมีความรัก ความทุ่มเทการทำงานให้กับองค์กรราวกับว่า เขาเป็นเจ้าขององค์กรนั้นเองเช่นกัน
แต่ผมเองโดยส่วนตัวแล้วกลับชอบคำว่า รู้สึกเป็นเจ้าของ มากกว่าเพราะมันตรงดี และเห็นภาพ เข้าใจนัยของความหมายของคำมากกว่าคำว่า ความผูกพัน ซึ่งอาจจะถูกตีความแตกต่างกันไปมากมายได้ และเป็นคำที่อาจจะเป็นแฟชั่นแป๊ปๆ แล้วอาจจะมีการเปลี่ยนคำใหม่อีก
อย่างไรก็ดี ลักษณะของพนักงานที่ทำงานอย่างรู้สึกว่าเป็นเจ้าขององค์กรนั้น มีลักษณะอย่างไร
  • มีความรับผิดชอบสูงมาก เรียกได้ว่าสูงเกินกว่าที่องค์กรมอบหมายให้ทำด้วยซ้ำไป บางครั้งงานที่ได้รับมอบหมายมีขอบเขตแค่เพียง 1 – 5 แต่พนักงานคนนี้จะทำงานลึกกว่าที่มอบหมาย รวมทั้งยังช่วยดูแล และเสนอแนะงานอื่นที่อยู่นอกขอบเขตความรับผิดชอบของตนเองอีก ด้วยเหตุผลแค่เพียงว่าเขารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่เขาต้องทำในฐานะที่เขาทำงานให้กับบริษัท หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ทำงานเกินกว่าเงินเดือนที่เขาได้รับนั่นเอง
  • ให้ความร่วมมือในงาน หรือกิจกรรมต่างๆ ของบริษัท พนักงานที่รู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของบริษัท จะมีความรู้สึกอยากมีส่วนร่วมในการทำงานขององค์กร เวลาที่มีคนมาขอความร่วมมือ แม้จะไม่ใช่หน้าที่ของตนเอง แต่ก็จะให้ความร่วมมือในการทำงานเป็นอย่างดี ดีไม่ดียังให้ความร่วมมือมากกว่าที่ขอไปอีกก็เป็นได้
  • มีความรับผิดชอบในตนเอง พนักงานที่รู้สึกเป็นเจ้าของนั้นจะมีความรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมายอย่างสูง ได้รับงานมาแล้ว จะไม่เคยทิ้งงานเลย มีแต่จะทำให้งานนั้นเกิดขึ้นอย่างดี และเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ อีกทั้งเจ้านายแทบจะไม่ต้องควบคุมดูแลอะไรเลยด้วยซ้ำไป ไม่ต้องตาม ไม่ต้องจ้ำจี้จ้ำไชแม้แต่นิดเดียว
  • เวลาบริษัทมีปัญหาจะเข้ามาช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เวลาที่บริษัทประสบกับปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงิน หรือเรื่องอื่นๆ ก็ตาม พนักงานกลุ่มนี้จะเข้ามาช่วยเหลืออย่างเต็มที่ บางแห่งบริษัทประสบอุบัติเหตุขึ้น พนักงานกลุ่มนี้จะพยายามเข้ามาช่วยแก้ไขเหตุการณ์ต่างๆ ให้กลับมาราบรื่นตามเดิม บางบริษัทประสบภาวะขาดทุน พนักงานกลุ่มนี้จะพยายามช่วยกันทำงานอย่างเต็มที่ และบางครั้งยังยอมที่จะไม่รับเงินเดือนในบางช่วงเวลา เพื่อให้บริษัทกลับมาสู่สภาพเดิมได้โดยเร็วที่สุด
ส่วนพนักงานที่ไม่รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของนั้น ก็มีพฤติกรรมที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ได้กล่าวมาข้างต้น ส่วนใหญ่ที่พบก็คือ จะทำงานตามที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น แต่จะไม่ลงลึกไปกว่านั้น เวลามีงานอื่นๆ ที่ต้องขอความช่วยเหลือ ก็มักจะเลี่ยงไม่ทำ โดยหาเหตุผลมาอ้างต่างๆ นานา ทุกครั้ง หรือบางครั้งที่บริษัทประสบปัญหา ก็จะหนีเอาตัวรอดไว้ก่อน เข้าข่ายว่าเอาตัวเองให้รอด ที่องค์กรจะเป็นอย่างไรไม่ใช่เรื่องของตน
จริงๆ แล้วพนักงานที่รู้สึกแบบนี้ก็ไม่ได้ผิดนะครับ เพียงแต่องค์กรอาจจะไม่ค่อยชอบนัก เพราะทำแค่เพียงที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น ถ้าองค์กรของเรามีพนักงานที่ไม่รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของเลย ผมว่าอัตราการเติบโตขององค์กรคงจะถดถอยไปเรื่อยๆ
ในทางตรงกันข้ามองค์กรที่มีพนักงานที่รู้สึกถึงความเป็นเจ้าขององค์กรมากหน่อย องค์กรจะสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เพราะพนักงานกลุ่มนี้จะเป็นคนผลักดัน และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ไม่ทำงานด้วยความเคยชินแบบเดิมๆ แต่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้องค์กรสามารถอยู่รอด และเจริญเติบโตไปได้อย่างยั่งยืน
แล้ววิธีการในการทำให้พนักงานรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของนั้น เราจะทำได้อย่างไร เพราะหลายๆ คนมองว่าเป็นเรื่องยากมาก ที่จะทำให้คนๆ หนึ่ง ที่ไม่ใช่เจ้าของธุรกิจ มารู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของธุรกิจนั้นได้ แต่ในทางปฏิบัติก็มีหลายองค์กรที่สามารถทำได้จริงๆ ซึ่งก็สามารถสรุปแนวทางได้ดังนี้ครับ
  • ให้พนักงานได้มองเห็นภาพเป้าหมายขององค์กรอย่างชัดเจน คือเข้ามาทำงานแล้วไม่ใช่แค่มองแค่งานตนเองในแต่ละวันเท่านั้น แต่จะต้องทำให้พนักงานมองเห็นภาพว่าองค์กรของเรามีเป้าหมายอย่างไร และโตต่อไปอย่างไรบ้าง วิสัยทัศน์เป็นอย่างไร
  • เชื่อมโยงงานของพนักงานกับเป้าหมายขององค์กร ก็คือการทำให้พนักงานเข้าใจว่างานของตนเองนั้นไปมีส่วนทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมายได้อย่างไร ทำให้เขารู้สึกถึงความสำคัญของงานที่เขาทำ โดยการบอกพนักงานให้ทราบว่า ถ้าขาดงานที่เขาทำแล้วองค์กรจะต้องขาดอะไรไปบ้าง
  • ให้พนักงานได้เห็นความคืบหน้าของธุรกิจ การที่จะทำให้พนักงานมีความรู้สึกเป็นเจ้าของได้นั้น สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ จะต้องมีการแจ้งความคืบหน้าของธุรกิจเทียบกับเป้าหมายให้พนักงานทราบเป็นระยะๆ โดยแจ้งให้ชัดเจนว่า ที่องค์ไปได้ขนาดนี้ก็เนื่องจากงานในส่วนไหนที่พนักงานทำบ้าง ทำให้เขาเห็นภาพความเชื่อมโยงในความสำเร็จขององค์กรกับงานที่เขาทำ
  • ให้ความชื่นชม และตระหนักในความสำคัญของพนักงาน องค์กรจะต้องสร้างกลุ่มผู้บริหาร และกลุ่มผู้จัดการที่มีความสามารถในการบริหารคน โดยเน้นไปที่การให้กำลังใจ และการทำให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญ การให้คำชมอย่างจริงใจ การให้ CEO ลงมาสัมผัสกับพนักงานบ้าง พูดคุยกับพนักงานอย่างเป็นกันเอง รวมทั้งชื่นชมผลงานของพนักงานด้วยความจริงใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็คือ เรื่องของการมีภาวะผู้นำที่ดีนั่นเองครับ
  • ระบบบริหารงาน และบริหารคนที่มีความเป็นธรรม องค์กรจะซื้อใจพนักงานได้ ก็ต้องมีความจริงใจต่อพนักงานเช่นกัน ดังนั้นระบบการบริหารงาน และบริหารคนจะต้องมีความจริงใจ และเป็นธรรม ไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อพนักงานที่แตกต่างกัน
สังเกตว่าการที่จะสร้างความรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของให้เกิดขึ้นได้นั้น ปัจจัยการสร้างเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นเรื่องของปัจจัยภายในตัวคนเราทั้งสิ้น เป็นปัจจัยที่ไม่ใช่ตัวเงินเลย
แต่ในทางปฏิบัติยังคงมีบางองค์กรที่พยายามใช้ค่าตอบแทนในรูปของตัวเงินมาสร้างความรู้สึกของการเป็นเจ้าของ ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ก็สร้างได้ในระยะสั้นๆ เท่านั้น ถ้าเงินไม่มีพนักงานก็คงหมดความเป็นเจ้าของเหมือนกัน
แล้วองค์กรของท่านล่ะครับ พนักงานส่วนใหญ่รู้สึกเป็นเจ้าขององค์กรหรือไม่ครับ

วันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2561

กฏทองของ SWING TRADER



กฏทองของ SWING TRADER by. เม่าน้อยเล่นหุ้น


1. The Trend is your friend. อย่าเล่นสวนเทรนเป็นอันขาดครับ เพราะจะมีแค่เจ๊าและเจ๊ง Swing trader จะเข้าซื้อเมื่อมี Trend เท่านั้น ไม่ซื้อที่ราคาต่ำสุด ไม่ขายที่ราคาสูงสุด ขายหมูเป็นงานประจำ กินคำเล็กแต่บ่อยๆครั้งครับ
2.มี Stop loss ที่ชัดเจน อันนี้โค ต ระ สำคัญครับ ใครไม่มีเจ๊งแน่นอน ส่วนจะ Stop ตรงไหน ก็แล้วแต่จริตเลยครับ ส่วนตัวผมเองนั้น Stoploss ที่ 3% ครับ
3. แบ่งขายทำกำไร เนื่องจากเรานิยามตนเองว่าเป็น Swing Trade ครับ พอกำไรเราควรแบ่งขาย เพื่อเป็นการรับประกันว่าได้ตังแน่ๆ ผมเองจะวาจุดขายแรกไว้เมื่อได้กำไรราวๆ 5-6% อ้างอิงจาก Stoploss ที่วางไว้ 3% ถ้าเรากำไร 5% ขาดทุน 3% ยังไงซะก็ยังกำไรครับ
4. ขายหุ้นเมื่อราคาวิ่งแรงๆ เมื่อราคามันวิ่งแรง อย่ามัวแต่ดีใจ รีบขายสิครับ เก็บกำไรไว้ก่อนเพราะหุ้นวิ่งเร็วแรง เวลาลงก็ลงเร็วแรงเช่นกัน
5. ถ้าไม่แน่ใจภาวะความเป็นไปของตลาด ใ้ห้ขายหุ้นและถอยออกมา รอจนกว่าจะแน่ใจแล้วค่อยลงมือครับ
6. ยอมรับผิดและให้อภัยตัวเอง ไม่มีใครทำอะไรถูกไปซะทุกครั้ง การซื้อหุ้นก็เช่นกันมันมีทั้งถูกและผิด แต่ถ้าวันไหนมันผิดเยอะๆ ก็อย่าไปเครียด หาเวลาพักบ้าง บางทีวันนี้อาจไม่ใช่วันของเราครับ
7. เทรดหุ้นที่มีสภาพคล่องเท่านั้น เพราะเรากินกำไรจากการ swing ของราคาหุ้น ดังนั้นถ้าหุ้นไม่มีสภาพคล่องเราอาจติดกับดักได้ครับ

วันอาทิตย์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2561

แปลความหมายจากกราฟแแท่งเทียนแบบไม่ต้องจำ ทำอย่างไร?


แปลความหมายจากกราฟแแท่งเทียนแบบไม่ต้องจำ ทำอย่างไร?


     กราฟแท่งเทียนเป็นประเภทของกราฟที่ได้รับความนิยมและถูกใช้มากที่สุดประเภทหนึ่ง แต่เม่าน้อยเชื่อว่ามีเพื่อน ๆ หลายคนที่เวลาที่วิเคราะห์กราฟแท่งเทียนพยายามจำรูปแบบแท่งเทียนเป็นจำนวนมาก ( ใครจะไปจำไหว เยอะอิ๊บอ๋าย ) แต่สุดท้ายก็ยังไม่ได้ข้อมูลจากกราฟแท่งเทียนที่เป็นประโยชน์มาใช้ในการเทรดได้อย่างเต็มที่
     ในบทความนี้เม่าน้อยจะมาบอกเคล็ดลับส่วนตัวในการอ่านกราฟแท่งเทียน และการแปลความหมายในมุมมองทางเทคนิคของกราฟแท่งเทียน โดยตั้งใจไว้ว่าอยากแชร์ไอเดียและประสบการณ์ในการอ่านกราฟแท่งเทียน ที่คิดว่าน่าจะทำให้เพื่อน ๆ สามารถอ่านกราฟแท่งเทียนได้อย่างทะลุปรุโปร่ง โดยไม่ต้องไปนั่งจำชื่อ หรือจำ Pattern ต่าง ๆ เพราะส่วนตัวเวลาที่วิเคราะห์กราฟแท่งเทียนเม่าน้อยจะเน้นไปที่การทำความเข้าใจและหลักการของแปลความหมายกราฟแท่งเทียนมากกว่าการใช้ความจำ ถ้าพร้อมแล้วเรามาเริ่มกันเลยครับ
เราอ่านกราฟแท่งเทียนไปทำไม?
วัตถุประสงค์ในการอ่านกราฟแท่งเทียน คือ การอ่าน อารมณ์ ของผู้ที่เข้ามาซื้อขายในตลาด ดังนั้นเวลาที่อ่านกราฟแท่งเทียนเราควรตอบคำได้เบื้องต้นไห้ได้ว่า ระหว่างฝั่งซื้อกับฝั่งขายฝั่งไหนมีแรงมากกว่า ฝั่งไหนที่มีความรีบร้อนกระตือรือร้นอยากลงมือซื้อขายกว่า เมื่อเราอ่านอารมณ์ของตลาดออกแล้ว เราก็จะสามารถตัดสินใจลงมืออย่างไร เพื่อให้ได้โอกาสในการได้กำไรจากการเทรดมากกว่าโอกาสขาดทุน
การแปลความหมายจากกกราฟแท่งเทียนโดยวิเคราะห์รูปแท่งเทียนเพียง 1 แท่ง อาจจะยังให้ข้อมูลไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจลงมือเทรด เราจะต้องพิจาณาแท่งเทียนหลาย ๆ แท่งประกอบกัน ซึ่งจะใช้ข้อมูลพื้นฐานทั้ง 4 อย่างของแต่ละแท่งเทียน คือ ราคาเปิด ราคาปิด ราคาสูงสุด และราคาต่ำสุด มาเปรียบเทียบกันระหว่างแท่งเทียนแต่ละแท่งด้วยการอ่านกราฟแท่งเทียนไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อคาดเดาเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้แม่นยำ แต่เป็นการระบุสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่าเกิดอะไรขึ้น จากนั้นเราค่อยนำข้อมูลที่ได้ไปต่อยอดว่าควรจะทำอะไรหรือลงมือเทรดอย่างไรในขั้นตอนต่อไป
เวลาที่เม่าน้อยอ่านกราฟแท่งเทียน เม่าน้อยจะลองตั้งคำถามเบื้องต้น 8 ข้อ ซึ่งหลังจากที่ตอบคำถามเหล่านี้แล้ว มันช่วยให้เม่าน้อยได้มุมมองว่าคนที่เข้ามาซื้อขายในตลาดมีอารมณ์อย่างไร และข้อมูลที่ได้มีประโยชน์อย่างมากในการประกอบการตัดสินใจลงมือเทรด ซึ่งคำถามเหล่านั้น ได้แก่
คำถามที่ 1: ในแท่งเทียนแต่ละแท่ง ผลการต่อสู้ระหว่างแรงซื้อกับแรงขาย ฝั่งไหนเป็นฝ่ายชนะ?
คำถามนี้จะเป็นการวิเคราะห์เฉพาะแท่งเทียนนั้น ๆ เพียงแท่งเดียวก่อน ซึ่งวิธีการที่จะบอกว่าในแต่ละแท่งเทียนฝั่งไหนเป็นฝ่ายชนะ ทำได้โดยแบ่งความยาวของแท่งเทียน (วัดจากราคาสูงสุดถึงราคาต่ำสุด) ออกออกเป็น 3 ส่วนเท่าๆ กัน แล้วดูว่าราคาปิดอยู่ในช่วงไหน
1.1 ถ้าราคาปิดของแท่งเทียนนั้นๆ อยุ่ในช่วง ของด้านบน แปลว่าแรงซื้อมีความกระตือรือร้นออกแรงมากกว่าหรือมีจำนวนมากกว่า เราจะสรุปว่าในแท่งเทียนรูปนั้นแรงซื้อเป็นฝ่ายชนะ
1.2 ถ้าราคาปิดของแท่งเทียนนั้นๆ อยู่ในช่วง ของตรงกลาง เราจะสรุปว่าในแท่งเทียนรูปนั้นแรงซื้อแรงขายพอๆกัน
1.3 ถ้าราคาปิดของแท่งเทียนนั้นๆ อยู่ในช่วง ของด้านล่าง แปลว่าแรงขายมีความกระตือรือร้นออกแรงมากกว่า หรือมีจำนวนมากกว่า เราจะสรุปว่าในแท่งเทียนรูปนั้นแรงขายเป็นฝ่ายชนะ

รูปแสดงตัวอย่างของแท่งเทียนที่มีราคาปิดอยู่ใน ช่วง 1/3 ด้านบน ,ช่วง 1/3 ตรงกลาง และช่วง 1/3 ด้านล่าง
หมายเหตุ : การสรุปผลของแรงซื้อแรงขายของแท่งเทียนแต่ละแท่งด้วยวิธีนี้เหมาะสำหรับแท่งเทียนที่มีขนาดยาวเท่านั้น ถ้าเป็นแท่งเทียนขนาดสั้น ๆ การตีความให้อ่านจากเนื้อหาในคำถามที่ 2


คำถามที่ 2 : แท่งเทียนแต่ละแท่งมีความยาวมากหรือน้อย?
ความแตกต่างระหว่างราคาสูงสุดถึงราคาต่ำสุดในแต่ละช่วง สามารถใช้พิจารณาความผันผวนของราคาในช่วงนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งถ้าจะดูข้อมูลนี้จากรูปแท่งเทียน สามารถดูได้จากความยาวของรูปแท่งเทียนในแต่ละแท่งนั่นเอง
2.1 แท่งเทียนที่มีความยาวมาก คือ แท่งเทียนที่ราคาสูงสุดกับราคาต่ำสุดห่างกันมาก แปลความหมายได้ว่าแท่งเทียนแท่งนั้นๆ แสดงให้เห็นว่าความรีบร้อนกระตือรือร้นในการซื้อขายของฝั่งใดฝั่งหนึ่งหรืออาจจะเป็นทั้งสองฝั่ง จึงซื้อขายไม่เกี่ยงราคา หรือมีการไล่ราคาซื้อขายกันอย่างผันผวน
2.2 แท่งเทียนมีลักษณะสั้นๆ เล็กๆ คือ แท่งเทียนที่จุดสูงสุดกับจุดต่ำสุดห่างกันไม่มาก แปลความหมายได้ว่าแท่งเทียนแท่งนั้นๆ ทั้งฝั่งซื้อและฝั่งขายยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกไปในทิศทางไหน จึงลงมือซื้อขายกันอยู่ในกรอบแคบ ๆ  ไม่อยากซื้อขายในลักษณะไล่ราคา ราคาจึงไม่ผันผวน



คำถามที่ 3 : ปริมาณการซื้อขายของแท่งเทียนแต่ละแท่งเป็นอย่างไร?
ปริมาณการซื้อขายของแต่ละแท่งเทียนเป็นข้อมูลสำคัญที่ใช้บอกว่าในแท่งเทียนแต่ละแท่งนั้น มีคนให้ความสนใจหรือเข้ามามีส่วนร่วมในการซื้อขายมากหรือน้อย แท่งเทียนที่มีปริมาณการซื้อขายที่มากเป็นตัวบอกว่ามีคนสนใจเข้าร่วมซื้อขายจำนวนมาก จึงช่วยเสริมความมั่นใจและเพิ่มความน่าเชื่อถือของผลการวิเคราะห์ทิศทางของราคามากยิ่งขึ้น ส่วนแท่งเทียนที่มีปริมาณการซื้อขายน้อยบ่งบอกว่ามีคนสนใจเข้ามามีส่วนร่วมน้อย จึงมีความน่าเชื่อถือของผลการวิเคราะห์ทิศทางของราคาน้อย ให้ระมัดระวังในการแปลผลหรือให้หลีกเลี่ยง
ตัวอย่างการวิเคราะห์แท่งเทียนร่วมกับปริมาณการซื้อขาย ได้แก่
3.1 แท่งเทียนที่มีขนาดยาวและปริมาณการซื้อขายมาก แสดงว่ามีคนสนใจหรือเข้ามามีส่วนร่วมในการซื้อขายเป็นจำนวนมากภายในแท่งเทียนนั้น จึงช่วยเสริมความมั่นใจในการสรุปผลระหว่างแรงซื้อกับแรงขายของแท่งนั้น ๆ
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราพบแท่งเทียนที่เป็นแท่งโปร่ง (แท่งสีเขียว) ขนาดยาว และราคาปิดอยู่ในช่วง ด้านบน พร้อมกับปริมาณการซื้อขายมาก ๆ สามารถสรุปได้อย่างมั่นใจว่า แท่งเทียนแท่งนั้นแรงซื้อชนะแรงขาย และเป็นแท่งเทียนที่บอกถึงทิศทางขาขึ้น หรือ ถ้าเราพบแท่งเทียนที่เป็นแท่งทึบ (แท่งสีแดง) ขนาดยาว และราคาปิดอยุ่ในช่วง ด้านล่าง พร้อมกับปริมาณการซื้อขายมาก ๆ เราก็สามารถสรุปได้อย่างมั่นใจว่า แท่งเทียนแท่งนั้นแรงขายชนะแรงซื้อ และเป็นแท่งเทียนที่บอกถึงทิศทางขาลง
3.2 แท่งเทียนที่มีขนาดยาวแต่มีปริมาณการซื้อขายน้อย แสดงว่ามีคนสนใจเข้ามามีส่วนร่วมน้อย ให้ระมัดระวัง เช่น ถ้าเราพบแท่งเทียนที่เป็นแท่งโปร่งขนาดยาว แต่มีปริมาณการซื้อขายน้อย ให้เราระวังว่าการที่ราคาเพิ่มขึ้นนี้อาจจะไม่ยั่งยืนเป็นการขึ้นแบบหลอก ๆ เพราะราคาที่เพิ่มขึ้นฝั่งซื้อก็เก็บของได้จำนวนไม่มาก ส่วนฝั่งขายก็ยังขายก็ยังขายของออกมาเพียงนิดเดียว ดังนั้นถ้าราคามีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ฝั่งซื้อก็อาจจะไม่ค่อยอยากไล่ราคาเพราะไม่มีของต้นทุนต่ำในมือ แต่ราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นจะจูงใจให้ฝั่งขายที่ยังมีของเหลืออยู่มากก็อาจจะเริ่มสนใจขายมากขึ้น เป็นต้น
3.3 แท่งเทียนที่มีขนาดสั้นแต่ปริมาณการซื้อขายมาก การที่มีคนเข้ามามีส่วนร่วมมากๆ ในราคาช่วงแคบ ๆ แสดงให้เห็นว่ากำลังมีแรงซื้อเป็นจำนวนมาก และมีแรงขายทิ้งออกมาเป็นจำนวนมาก ด้วยเช่นเดียวกัน ทำให้มีซื้อขายเปลี่ยนมือเยอะ ดังนั้นจึงเป็นแท่งเทียนที่มีความน่าสนใจ ว่าในอนาคตถ้าฝั่งซื้อหรือฝั่งขายเริ่มหมดแรงและยอมตัดสินใจเลือกให้ราคาเคลื่อนที่ไปข้างใดข้างหนึ่ง ราคาก็อาจจะมีการเคลื่อนที่ขึ้นแรง หรือลงอย่างรวดเร็ว
3.4 แท่งเทียนที่มีขนาดสั้นและมีปริมาณการซื้อขายน้อย แปลว่าไม่มีคนสนใจ หรือ มีคนสนใจน้อยและซื้อขายกันในช่วงแคบๆ ไม่ค่อยมีอะไรน่าสนใจมากนัก
คำถามที่ 4 : แท่งเทียนส่วนใหญ่ (หลาย ๆ แท่ง) บอกว่าฝั่งไหนมีแรงมากกว่า โดยเฉพาะแท่งเทียนที่มีขนาดยาว?
แท่งเทียนในปัจจุบันส่วนใหญ่ควรแสดงอารมณ์ในทิศทางเดียวกันกับแนวโน้มของตลาด เช่น ควรจะมีแท่งเทียนเป็นแท่งโปร่งจำนวนมากกว่าในช่วงที่ตลาดเป็นขาขึ้น หรือควรจะมีแท่งเทียนที่เป็นแท่งทึบจำนวนมากกว่าในตลาดขาลง ก็สามารถมั่นใจได้ว่าแนวโน้มตลาดที่เป็นอยู่ในปัจจุบันยังไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลง
4.1 ในช่วงตลาดหุ้นขาขึ้น รูปแท่งเทียนจะแสดงให้เห็นว่ามีความต้องการซื้อเป็นจำนวนมาก รูปแท่งเทียนส่วนใหญ่ควรจะเป็นแท่งโปร่ง(สีเขียว)ยาว ซึ่งเป็นรูปแท่งเทียนที่ให้ข้อมูลว่ามีแรงซื้อมาก หรือราคาปิดอยู่ใน ช่วงบนของแท่ง เพื่อยืนยันว่าแรงซื้อเป็นฝ่ายชนะในแท่งเทียนนั้น ๆ ในกรณีที่เป็นแท่งทึบก็มักจะเป็นแท่งเล็ก ๆ ที่มีความยาวไม่มาก
4.2 ในช่วงตลาดขาลง รูปแท่งเทียนจะแสดงให้เห็นว่ามีความต้องการขายจำนวนมาก รูปแท่งเทียนส่วนใหญ่จะเป็นแท่งทึบ(สีแดง)ยาว ซึ่งเป็นรูปแท่งเทียนที่ให้ข้อมูลว่ามีแรงขายมาก หรือราคาปิดอยู่ใน ช่วงล่างของแท่ง เพื่อยืนยันว่าแรงขายเป็นฝ่ายชนะในแท่งเทียนนั้น ๆ ในกรณีที่เป็นแท่งโปร่งก็มักจะเป็นแท่งเล็ก ๆ ที่มีความยาวไม่มาก
มีข้อสังเกตุอีกอย่างหนึ่งที่เม่าน้อยมักจะสังเกตแท่งเทียนร่วมกับทิศทางของแนวโน้มไปด้วยคือ ไส้เทียนที่แสดงถึงอารมณ์ตรงข้ามกับทิศทางของแนวโน้มราคาในปัจจุบัน  ซึ่งในแนวโน้มขาขึ้นที่แข็งแกร่งเม่าน้อยจะไม่ชอบเห็นแท่งเทียนที่มีไส้เทียนยาว ๆ ทางด้านบน เพราะเป็นข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าฝั่งขายเริ่มมีการออกแรงขัดขืนให้เห็นจึงทำให้ในขณะที่ทิศทางแนวโน้มยังเป็นขาขึ้น ส่วนในแนวโน้มขาลงที่แข็งแกร่งเม่าน้อยก็มักจะไม่ชอบเห็นแท่งเทียนที่มีไส้เทียนยาว ๆ ทางด้านล่างด้วยเช่นเดียวกัน
คำถามที่ 5 : ข้อมูลราคาเปิดปิดสูงต่ำของแท่งเทียนในปัจจุบันเทียบกับข้อมูลเปิดปิดสูงต่ำของแท่งเทียนแท่งก่อนหน้าเป็นอย่างไร?
การนำข้อมูลทั้ง 4 อย่างได้แก่ ราคาเปิด (O)  ราคาสูงสุด (H) ราคาต่ำ (L) และสุดราคาปิด (C) ของแท่งเทียนปัจจุบันและแท่งเทียนก่อนหน้ามาเปรียบเทียบกันจะให้ข้อมูลของแรงซื้อกับแรงขายกับเรา ดังนี้
5.1 เปรียบเทียบราคาเปิด (O) แท่งเทียนปัจจุบัน กับ ราคาปิด (C) ของแท่งเทียนก่อนหน้า
ถ้าราคาเปิดของแท่งเทียนปัจจุบันอยู่สูงกว่าราคาปิดของแท่งเทียนก่อนหน้า แปลว่าช่วงเริ่มต้นของแท่งเทียนปัจจุบัน ฝั่งซื้อมีความรีบร้อนอยากซื้อมากกว่าฝั่งขาย
แต่ถ้าราคาเปิดของแท่งเทียนปัจจุบันอยู่ต่ำกว่าราคาปิดของแท่งเทียนก่อนหน้า ก็แปลว่าช่วงเริ่มต้นของแท่งเทียนปัจจุบัน ฝั่งขายมีความรีบร้อนอยากขายมากกว่าฝั่งซื้อ
5.2 เปรียบเทียบราคาต่ำสุด (L) ของแท่งเทียนปัจจุบัน กับ ราคาต่ำสุด (L) ของแท่งเทียนก่อนหน้า
ในช่วงทิศทางแนวโน้มเป็นขาขึ้นเราชอบที่จะเห็นราคาต่ำสุดของแท่งเทียนปัจจุบันอยู่สูงกว่าราคาต่ำสุดของแท่งเทียนก่อนหน้า (ราคาต่ำสุดยกสูงขึ้นเรื่อยๆ) หรืออย่างน้อยราคาต่ำสุดของแท่งเทียนปัจจุบันไม่ควรต่ำกว่าราคาต่ำสุดของแท่งเทียนก่อนหน้า
การที่ราคาต่ำสุดของแท่งเทียนปัจจุบันต่ำกว่าราคาต่ำสุดของแท่งเทียนก่อนหน้า แปลความหมายได้ว่าแรงซื้อไม่กระตือรือร้นอยากซื้อ แต่แรงขายกับรีบร้อนขายมากกว่าจึงทำให้ราคาลดต่ำลงมาก ให้ความรู้สึกอารมณ์เหมือนช่วงแนวโน้มทิศทางขาลงมากกว่า
5.3 เปรียบเทียบราคาสูงสุด (H) ของแท่งเทียนปัจจุบัน กับ ราคาสูงสุด (H) ของแท่งเทียนก่อนหน้า
ในช่วงทิศทางแนวโน้มขาขึ้นถ้าราคาสูงสุดของแท่งเทียนปัจจุบันสูงกว่าราคาสูงสุดของแท่งเทียนก่อนหน้า และราคาปิดของแท่งเทียนปัจจุบันสูงกว่าราคาปิดของแท่งก่อนหน้าก็ยิ่งเป็นการยืนยันว่าหุ้นยังเป็นขาขึ้น
ในช่วงทิศทางแนวโน้มขาลงเป็นขาลงเราก็ชอบที่จะเห็นราคาสูงสุดของแท่งเทียนปัจจุบันต่ำกว่าราคาสูงสุดของแท่งเทียนก่อนหน้า (ราคาสูงสุดลดต่ำลง) หรืออย่างน้อยราคาสูงสุดของแท่งเทียนปัจจุบันไม่ควรสูงกว่าราคาสูงสุดของแท่งเทียนก่อนหน้า และถ้าราคาต่ำสุดของแท่งเทียนปัจจุบันต่ำกว่าราคาต่ำของแท่งเทียนก่อนหน้า และราคาปิดของแท่งเทียนปัจจุบันต่ำกว่าราคาปิดของแท่งเทียนก่อนหน้าก็จะยิ่งยืนยันว่ายังเป็นทิศทางแนวโน้มขาลง

รูปที่ตัวอย่างของแท่งเทียนที่ราคาต่ำสุดยกสูงขึ้นในช่วงหุ้นขาขึ้น และแท่งเทียนที่ราคาสูงสุดลดต่ำลงในช่วงหุ้นขาลง
คำถามที่ 6 : กลุ่มของแท่งเทียนหลายแท่งมีราคาทับซ้อนกันมากหรือน้อย (Trend หรือ Sideways)?
6.1 กลุ่มของแท่งเทียนที่ราคามีการทับซ้อนกันมาก แปลว่า ระดับราคาที่มีการซื้อขายในแต่ละแท่งเทียนใกล้เคียงกันแตกต่างกันไม่มาก แสดงให้เห็นอารมรณ์ของแรงซื้อกับแรงขายที่ไม่มีฝั่งไหนรีบร้อนซื้อขายหุ้น จากรูปแท่งเทียนหลายๆ แท่งที่มีการทับซ้อนกันจึงสรุปได้ว่าเป็นช่วงที่ราคาเป็นช่วงพักฐาน (Sideways) ถึงแม้จะแท่งเทียนขนาดยาวจำนวนมากก็ตาม
6.2 กลุ่มของแท่งเทียนที่ราคาทับซ้อนกันน้อย แปลว่า ระดับราคาที่มีการซื้อขายในแต่ละแท่งเทียนแตกต่างกัน อาจเป็นการไล่ราคาให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หรือเป็นการทุบราคาให้ลดต่ำลงเรื่อยๆก็ได้ ซึ่งแสดงให้เห็นอารมณ์ว่าแรงซื้อแรงขายมีความรีบร้อนในการซื้อหุ้น จึงสรุปได้ว่าเป็นช่วงราคาที่มีแนวโน้มชัดเจน (Trend)
ในกรณีที่แรงซื้อเป็นฝั่งที่รีบร้อนอยากซื้อหุ้นจะไม่รอให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงแล้วค่อยซื้อเพราะกล้วว่าจะเสียโอกาส เราจึงเห็นได้ว่าแท่งเทียนแต่ละแท่งจะมีการปรับตัวสูงขึ้นและมีการทับซ้อนของราคาน้อยโดยราคาต่ำสุดของแท่งเทียนแท่งใหม่จะเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับราคาสูงสุดของแท่งเทียนก่อนหน้า การประยุกต์เพื่อใช้งานในสถานการณ์ซื้อขายจริง เมื่อเราเห็นกลุ่มของแท่งเทียนที่เป็นขาขึ้นแล้วมีการทับซ้อนกันของราคาน้อย ๆ จึงให้ข้อมูลกับเราว่าแรงซื้อยังมีความรีบร้อนในการเข้าซื้ออยู่ ถ้าเรามีของอยู่ก็สบายใจได้ไม่ต้องรีบร้อนที่จะขายเพื่อทำกำไร
ในกรณีกลับกันถ้าแรงขายเป็นฝั่งที่รีบร้อนอยากขายหุ้น ฝั่งขายก็ไม่ควรรอให้ราคาหุ้นเด้งขึ้นเพื่อขายทิ้ง แต่ควรจะยอมตัดใจขายได้ทันที ในสถานการณ์นี้กลุ่มของแท่งเทียนที่เราเห็น ราคาสูงสุดของแท่งเทียนแท่งใหม่ควรจะอยู่ใกล้กับระดับราคาต่ำสุดของแท่งเทียนก่อนหน้า การประยุกต์เพื่อใช้งานในสถานการณ์ซื้อขายจริง เมื่อเราเห็นกลุ่มของแท่งเทียนที่เป็นขาลงแล้วมีการทับซ้อนกันของราคาน้อยๆ เราก็ไม่ควรรีบร้อนเข้าไปซื้อ

รูปแสดงตัวอย่างกลุ่มของแท่งเทียนที่มีการทับซ้อนกันมาก และกลุ่มของแท่งเทียนที่มีการทับซ้อนกันน้อย

รูปที่แสดงตัวอย่างกลุ่มของแท่งเทียนที่มีการทับซ้อนกันมาก และกลุ่มของแท่งเทียนที่มีการทับซ้อนกันน้อยในช่วงหุ้นขาขึ้น (ที่มา Aspen Mobile)

รูปแสดงตัวอย่างกลุ่มของแท่งเทียนที่มีการทับซ้อนกันน้อยในช่วงหุ้นขาลง (ที่มา Aspen Mobile)
คำถามที่ 7 : อารมณ์ของแท่งเทียนในปัจจุบันเปรียบเทียบกับแท่งเทียนหลายๆ แท่งก่อนหน้าเป็นอย่างไร?
แท่งเทียนแท่งล่าสุดที่แสดงให้เห็นถึงอารมณ์ของแรงซื้อและแรงขายที่แตกต่างจากอารมณ์ของแท่งเทียนหลาย ๆ แท่งก่อนหน้า เป็นจุดเริ่มต้นชวนให้สงสัยว่า แรงซื้อหรือแรงขายที่มีก่อนหน้านี้เริ่มที่จะลดความกระตือรือร้นในการซื้อหรือขายแล้วใช่หรือไม่

รูปที่แสดงตัวอย่างแท่งเทียนที่มีอารมณ์ตรงข้ามกับแท่งเทียนหลายๆแท่งก่อนหน้า
หลายๆ ครั้งเมื่อเราพบแท่งเทียนแท่งล่าสุดที่มีอารมณ์ตรงข้ามกับอารมณ์ของแท่งเทียนหลายๆ แท่งก่อนหน้า จะเป็นจุดที่ราคามีการกลับตัวจากขาลงเป็นขาขึ้นหรือกลับตัวจากขาขึ้นเป็นขาลง เช่น กรณีที่หุ้นก่อนหน้านี้เป็นขาลง โดยเห็นว่าแท่งเทียนก่อนหน้านี้หลายแท่งแสดงถึงความเร่งรีบขายหุ้นของฝั่งแรงขาย แต่ปรากฏว่าแท่งเทียนที่ปัจจุบันกลับเป็นแท่งเทียนที่แสดงถึงฝั่งซื้อมีความรีบร้อนซื้อหุ้น และฝั่งแรงซื้อเป็นฝั่งชนะ แท่งเทียนแท่งใหม่ที่เราเห็นนี้จึงเป็นจุดเตือนที่ดีว่าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต แท่งเทียนแท่งนี้อาจจะเป็นจุดที่หุ้นจะกลับตัวจากขาลงเป็นขาขึ้น จากนั้นเราก็ติดตามการซื้อขายหุ้นตัวนั้นอย่างใกล้ชิดและวางแผนกลยุทธ์การเพื่อให้ได้จังหวะซื้อขายที่ดีต่อไป
รูปตัวอย่างแท่งเทียนแบบ Bearish Pattern
รูปตัวอย่างแท่งเทียนแบบ Bullish Pattern


คำถามที่ 8 : ลองปรับ Time Frame ให้สั้นลง เพื่อดูให้รายละเอียดการเคลื่อนที่ของราคาที่มากขึ้นว่าเป็นอย่างไร
สำหรับคนที่ยังไม่ชำนาญการอ่านกราฟแท่งเทียนหลังจากตอบคำถามทั้ง 7 ข้อด้านบนแล้วยังได้ข้อมูลไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจเทรด เม่าน้อยขอแนะนำวิธีที่ได้ผลดีมาก ๆ วิธีหนึ่ง คือ ลองปรับ Time Frame ให้สั้นลง แล้วเราจะเห็นรายละเอียดการเคลื่อนที่ของราคาได้ละเอียดขึ้น เช่น กรณีที่เราวิเคราะห์กราฟแท่งเทียนโดยใช้ Time Frame 1 วัน (1 Day) แปลว่า แท่งเทียน 1 แท่งแทนการซื้อขายของราคาใน 1 วัน แต่ถ้าเราปรับ Time Frame ให้สั้นลงเป็น 1 ชั่วโมง (1 Hour) ใน  ระยะเวลา 1 วันเราจะเห็นรูปแท่งเทียนหลายแท่ง จึงทำให้เราเห็นการเคลื่อนที่ของราคาได้ละเอียดขึ้นนั่นเอง

รูปตัวอย่างการปรับ Time Frame ให้สั้นลง ทำให้เห็นรายละเอียดเพิ่มมากขึ้น
สรุปการอ่านกราฟแท่งเทียน
การอ่านกราฟแท่งเทียนมีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจถึงอารมณ์ของคนที่เข้ามาซื้อขายในตลาด การอ่านกราฟให้รู้ถึงอารมณ์ของแรงซื้อกับแรงขายในตลาดนั้นจะพิจารณาจาก
1.       รูปร่างของแท่งเทียน 1 แท่ง โดยการเปรียบเทียบราคาปิดของวันว่าฝั่งแรงซื้อหรือฝั่งแรงขายเป็นฝ่ายชนะ
2.       ความยาวของแท่งเทียน โดยแท่งเทียนที่มีความยาวจะบอกว่าแรงซื้อหรือแรงขายมีความรีบร้อนในการซื้อขายจึงทำให้ราคามีความผันผวน แท่งเทียนสั้นๆ แสดงถึงความเอื่อยเฉื่อยขาดความกระตือรือร้นของทั้งสองฝั่ง
3.       ปริมาณการซื้อขายที่มากของแท่งเทียนจะเป็นตัวเสริมความมั่นใจในการแปลความหมายแท่งเทียนนั้นๆ เนื่องจากมีคนสนใจและเข้ามามีส่วนร่วมซื้อขายเป็นจำนวนมาก ถ้าปริมาณการซื้อขายน้อยให้ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่าอารมณ์หรือทิศทางของราคานั้นๆ อาจจะอยู่ได้ไม่นานเพราะมีคนเข้ามามีส่วนร่วมในการซื้อขายน้อย
4.       การเปรียบเทียบระหว่างแท่งเทียน โดยเปรียบเทียบแท่งเทียนในปัจจุบันกับแท่งเทียนก่อนหน้า เช่น แท่งเทียนส่วนใหญ่มีอารมณ์ไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่
5.       ราคาต่ำสุดในแต่ละแท่งเทียนยกตัวขึ้นในช่วงหุ้นขาขึ้นหรือไม่ ราคาสูงในแต่ละแท่งเทียนลดต่ำลงในช่วงหุ้นขาลงหรือไม่ เพื่อยืนยันว่าแนวโน้มทิศทางของราคาหุ้นยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
6.       กลุ่มของแท่งเทียนมีการทับซ้อนกันของแท่งเทียนมากหรือน้อย เพื่อดูว่าแรงซื้อและแรงขายมีความรีบร้อนในการซื้อหรือขายหุ้นหรือไม่
7.       และถ้าเราพบว่ามีแท่งเทียนแท่งใหม่ที่มีอารมณ์ของแรงซื้อแรงขายที่ตรงข้ามกับทิศทางของแท่งเทียนจำนวนหลายๆแท่งก่อนหน้า จะเป็นจุดที่ราคามีการกลับตัว จึงควรให้ติดตามการซื้อขายหุ้นตัวนั้นอย่างใกล้ชิดเพื่อหาจังหวะในการซื้อขาย
8.       ลองเปลี่ยน Time Frame ให้สั้นลงเพื่อให้เห็นรายละเอียดการเคลื่อนที่ของราคาที่เพิ่มมากขึ้น
การอ่านกราฟแท่งเทียนจะเม่าน้อยแนะนำให้ลองตอบคำถามทั้ง 8 ข้อประกอบกัน โดยไม่ดูข้อใดข้อหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว เพื่อจะทำให้เห็นทั้งภาพที่ชัดเจนกว่าการวิเคราะห์แท่งเทียนเพียงแท่งเดียว และภาพกว้างจากวิเคราะห์กลุ่มของแท่งเทียน

เราอ่านแท่งเทียนไปทำไม?

ผมเชื่อเหลือเกินว่าเทรดเดอร์และนักลงทุนไม่ว่าจะเป็นหน้าเก่า หน้าใหม่คงต้องเคยเห็นเจ้ากราฟแท่งเทียนนี้ผ่านตากันมาแล้วแน่นอน แต่ทุกคนเคยทรา...